
แปลงเกษตรกายาฟู้ด (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ แปลงเกษตรก่องกานท์) คือผู้ผลิต จำหน่าย และจัดส่งผักผลไม้มาตรฐานออแกนิคไทยแลนด์ และเอสดีจีพีจีเอส (Organic Thailand & SDG-PGS) จากแปลงผักสู่มือลูกค้า ทั้งร้านอาหารและผู้บริโภค ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายต่าง ๆ เราเพาะปลูกผักผลไม้ ด้วยหลักคิดเพอร์มาคัลเจอร์ หรือการกสิกรรมยั่งยืนที่เน้นการอยู่ร่วมกัน ขององค์ประกอบต่าง ๆ ในระบบนิเวศน์ ทั้งมนุษย์ สิ่งปลูกสร้าง พืชผัก รวมถึงสัตว์และแมลงหลากชนิด


กระบวนการของเพอร์มาคัลเจอร์ ต่างจากกระบวนการของการเกษตรอุตสาหกรรม ในบางประการ ทั้งที่ได้มาตรฐานออกแกนิค และเกษตรปลอดภัย และแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการเกษตรไฮโดรโปนิคทั่วไปซึ่งใช้สารอนินทรีย์เป็นหลัก การนำรูปแบบการเกษตรเพอร์มาคัลเจอร์มาใช้ในแปลงเกษตร ช่วยนำสมดุลคืนสู่ระบบนิเวศน์ นำไปสู่องค์ประกอบทางชีวเคมีที่สมบูรณ์ เหมาะแก่การสร้างรากฐานของการปลูกพืชแข็งแรง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน อย่างที่ควรได้จากสายพันธุ์พืชหนึ่ง ๆ ทั้งยังเป็นการรักษาระบบนิเวศน์ของโลก อีกด้วย
ท่านสามารถติดตามศึกษาเรื่องราวของการเกษตรแบบเพอร์มาคัลเจอร์ต่อได้ที่ ร้าน Se-ed
การจัดการหญ้า

หญ้าถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักในแปลงเกษตรทุกแปลงที่ได้มาตรฐานออแกนิค เนื่องจากหญ้า เป็นวัชพืชที่สามารถขึ้นได้เกือบทุกสภาพพื้นที่ ยกเว้นเพียงพื้นที่ที่มีดินสภาพเป็นกรด (เช่น ดินจากก้นบ่อนำ้ขุด) เมล็ดพันธุ์หญ้าสามารถผังตัวหลบเร้นได้อย่างยาวนาน จนยากที่จะกำจัดให้หมดไป โดยไม่ใช้สารเคมีประเภทใดประเภทหนึ่ง เป็นส่วนผสม สารเคมีที่ใช้กำจัดหญ้า ที่แพร่หลายในปัจจุบัน คือจำพวก พาราควอต และไกลโฟเซต หรือสารชีวภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งหลาย ๆ แบรน จะที่มีส่วนผสมของเคมีภัณฑ์บางชนิด ซึ่งทำให้แปลงเกษตรมาตรฐานออแกนิค ไม่สามารถนำไปใช้ได้ (ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเกษตรกร ได้รับมาตรฐานออแกนิคจากประเทศใด เพราะแต่ละประเทศ มีข้อห้าม ข้อยกเว้น ไม่เหมือนกัน)
อย่างไรก็ตามเกษตรกรก็ได้พยายามเฟ้นหากระบวนการใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการควบคุมหญ้า อาธิ เช่น การห่มฟางคลุมดิน การคลุมแผ่นพลาสติก การเผาไฟ การขังนำ้เพื่อทำลายเมล็ดพันธุ์หญ้า หรือแม้แต่การนำสารสกัดออแกนิค 100% แบบเข้มข้นมาใช้ (ราคาแพงมาก และอยู่ในห้องทดลอง มากกว่านำมาใช้จริง) ซึ่งได้ผลต่างกันไป
ทั้งนี้ทางแปลงเกษตรกายาฟู้ด ใช้กระบวนการดั้งเดิมที่สุด และประสิทธิภาพดีที่สุด กล่าวคือ ใช้การไถพรวน กลับหน้าดิน และใช้ปลายช้อนยาวดัดงอขุดลงดิน พร้อมกับดึงวัชพืชขึ้นมา
ท่านสามารถศึกษาการควบคุมวัชพืช เพิ่มเติมได้ที่ EFFICACY OF ORGANIC WEED CONTROL METHODS -USDA



สารชีวภัณฑ์ควบคุมวัชพืชในปัจจุบัน ที่ได้มาตรฐาน USDA-NOP (United States Department of Agriculture-National Organic Program) มักจะมีองค์ประกอบของสารชีวเคมี เหล่านี้
- Corn gluten meal (CGM) – กลูเตนข้าวโพด
- Mustard meal (MM) – กากมัสตาร์ด
- Vinegar (5%, 10%, and 20% acetic acid) – นำ้ส้มสายชู 5% 10% 20% ที่เป็นกรดนำ้ส้ม
- Clove oil – นำ้มันกานพลู
- Ammonium nonanoate
- 55% d-limonene – เทอร์ปีนจากพืช
- Lemongrass oil – นำ้มันสกัดจากตะไคร้
- Pelargonic acid – กรดปีลาร์โกนิก
การจัดการความร้อน
การเกษตรในประเทศไทย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องจัดการกับความร้อน หากเกษตรกรปลูกผักสลัด ก็ต้องหาทางจัดการไม่ให้ผักสลัดได้รับความร้อนมากเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดความขม มนุษย์เรารับรู้ความขมได้ไวกว่ารสชาติอื่นมาก เนื่องจากวิวัฒนาการมนุษย์ ที่เชื่อมโยงรสขมเข้ากับความเป็นพิษ เพราะพืชที่มีรสขมจะมีสารชีวเคมีบางอย่างที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ ในปริมาณมาก อย่างไรก็ดี สารเหล่านี้ก็มีประโยชน์ต่อมนุษย์เช่นกัน
วิธีการจัดการความร้อนในแปลงเกษตร มักใช้การห่มบ่มดิน ไม่ให้โดนแดดโดยตรง เกษตรกรบางรายใช้ฟางข้าว แกลบ ถ่าน บางส่วนใช้แผ่นพลาสติกคลุมดิน (ลักษณะคล้ายตะกร้าสาน) มีกระทั่งการสร้างโรงเรือนเพื่อกันแสงแดดและแมลง โดยเลือกใช้ผ้าใบกันแดดพลาสติก จากวัสดุ LDPE สีใส ผสมสารกัน UV 5-7% ซึ่งมีราคาแพงสำหรับเกษตรกร แต่สามารถหาได้ทั่วไป ทั้งนี้ การเกษตรอัจฉริยะในโรงเรือน มักใช้หลอดไฟ LED full spectrum ทดแทนแสงอาทิตย์ จึงไม่มีปัญหาความร้อน แต่ก็แลกมาด้วยค่าพลังงานมหาศาล



วัสดุที่ใช้จัดการความร้อนทั่วไปในตลาด
- แกลบ ฟางข้าว ถ่านไม้
- LDPE +UV 5-7% ผลิตจากโรงงาน เช่น ไทยฮง
- LDPE ทั่วไป
- PP Plastic ทั้งจากไทยและต่างประเทศ โดยทั่วไปจะอายุสั้นกว่า LDPE
- ผ้าพลาสติกแบบเส้นใยละเอียด เช่น Bousou Sheet ผลิตจากโรงงานในไทย
- เครื่องพ่นละอองหมอก (โดยทั่วไปใช้กับโรงเรือนกล้วยไม้)
นำ้และความชื้น
แปลงเกษตรทุกแห่ง จำเป็นต้องมีแหล่งนำ้เป็นของตนเอง ไม่อาจพึ่งพาอาศัย แหล่งนำ้สาธารณะจากภายนอกได้เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าแล้ง เพราะเกษตรกรไม่มีวันรู้ว่าวันไหน นำ้จากแหล่งสาธารณะจะขาดช่วง กระทบต่อรายได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเกษตรมาตรฐานออแกนิค จำเป็นต้องมีการสำรวจแหล่งนำ้อย่างเคร่งครัด เพราะนำ้จากแหล่งภายนอก มักปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี

ความชื้น ไม่ค่อยเป็นปัญหาในการปลูกผัก ซึ่งเป็นไม้ล้มลุก แต่จะเป็นปัญหา กับการปลูกผลไม้บางชนิด เช่น ฟิก องุ่น ที่มีโอกาสแพ้เชื้อราง่าย ทั้งนี้ ควรจัดการ ไม่ให้นำ้ขังบริเวณรากพืช เพื่อป้องกันเชื้อราทำลายราก
การจัดวางแปลง
สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์ พึ่งพาอาศัยกันอยู่เนือง ๆ ในระดับชั้นต่าง ๆ ของห่วงโซ่อาหาร (John Kempf) พืชเองก็เช่นกัน มีความสัมพันธุ์ระหว่างพืชด้วยกันเอง และพืชกับจุลินทรีย์ ในหลายส่วน เช่น พืชส่งสัญญาณ VoC เตือนกันและกัน หรือพืชใช้จุลินทรีย์ ณ ขนราก ในการต่อต้านการโจมตีของเชื้อโรคและแมลง (Plant volatiles as cues and signals in plant communication) เราจึงควรออกแบบแปลงที่เอื้อต่อการทำงานของระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ เพื่อสุขภาวะพืชที่ดี และผู้บริโภคที่แข็งแรง






ความยั่งยืนทางการเกษตร
นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ หลายท่านมักกล่าวถึงความยั่งยืนทางการเกษตร สังคม สิ่งแวดล้อม ว่า ควรเริ่มจากนโยบายด้านพลังงานสีเขียว อุตสาหกรรมสีเขียว และการเกษตรสีเขียว โดยต้องผสานความร่วมมือจากบนลงล่าง และจากล่างขึ้นบน ในทางปฏิบัติ นโยบายเหล่านี้มักกระจุกตัวกันอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และพลังงาน กองทุนต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ มุ้งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจที่เข้าข่าย Low-Carbon หรือหาประโยชน์จากแนวอุตสาหกรรมนี้ เช่น ธุรกิจกำจัดขยะ (Republic Service Inc) ธุรกิจ Data Center (Equinix Inc) หรือวิศวกรรม (Tetra Tech Inc) ท่านผู้อ่าน จะพบว่ามีน้อยราย ที่มุ่งเป้าไปที่ภาคการเกษตร เพราะในภาคการเกษตรมีปัญหาใหญ่ ที่ทำให้สร้างความยั่งยืนได้ลำบาก (ดังที่ท่านผู้อ่าน คงจะได้รับรู้มาบ้าง จาก การประท้วง European Green Deal)
(ดู แนวทางปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ระยะที่ ๒ – Link)
ปัญหาคืออะไร?
- ส่วนใหญ่ คำว่าการเกษตรสีเขียว จะแปลความหมายว่า คือเกษตรปลอดภัย ซึ่งหมายถึง ความปลอดภัยต่อการบริโภค การสูดดม การสัมผัส แต่ไม่ได้รวมถึงนัยการสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และพลังงานที่ใช้ในการผลิต เพราะ
- การเกษตรในปัจจุบัน เป็นการเกษตรอุตสาหกรรม เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งขัดต่อลักษณะพื้นฐานของพืชที่พึ่งพาองค์ประกอบหลายส่วน ในระบบนิเวศน์ มนุษย์จึงจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรณ์ธรรมชาติจากภายนอกแปลงเกษตร มาสร้างสภาวะเสมือน ในหลายมิติ ขึ้นมารองรับการปลูกพืชชนิดนั้น ๆ
- ความเป็นเกษตรอุตสาหกรรม คือการเกษตรที่เน้นปริมาณเพาะปลูก เพื่อตอบสนองความต้องการเชิงระบบ ของเศรษฐกิจทุนนิยม อันแก่นแท้ของทุนนิยมเอง ไม่ได้นำสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน มาเป็นหนึ่งในปัจจัยการคำนวณ ซึ่งทำให้การเกษตรอุตสาหกรรม แตกต่างจากแนวทางการเกษตรธรรมชาติ ในไทย และ แนวทางสากล
- มนุษย์มีความต้องการแหล่งอาหารที่ล้นเกิน ศักยภาพที่ธรรมชาติจะจัดหาได้ด้วยตัวเอง จึงต้องใช้นวัตกรรมการเกษตรเข้ามาจัดการ ขณะเดียวกัน ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการเกษตรสีเขียว ก็ยังไม่อาจตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ทุกอย่าง เช่น โจทย์ด้านการผลิตปุ๋ย (ออแกนิค/เคมี) ในราคาที่เกษตรกรจับจ้องได้ ในปริมาณที่เพียงพอ ดังนั้น ในปัจจุบันข้อครหาว่าการเกษตร เป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงไม่หายไป
- ลูกค้าต้องการผักผลไม้ คุณภาพสูง ราคาถูก ซึ่งสวนทางกับแรงงานที่ต้องใช้ ในการรักษาคุณภาพทางโภชนาการ ของพืชอันหลากหลาย ในแปลงเกษตรธรรมชาติ
ความยั่งยืนในด้านการเกษตรจะมาจากไหน? เป็นคำถามที่หาคำตอบยาก เพราะเกษตรกรผู้ชำนาญงานด้านการเกษตรสีเขียว ต้องต่อสู้กับปัจจัยหลายอย่างรอบด้าน ทั้งเทคนิคการเกษตร แรงงาน และการตลาด โดยทั่วไป เกษตรกรในระบบเกษตรยั่งยืน จะมีความชำนาญงานเพียง 2 อย่างแรก ทำให้แหล่งรายได้จากการขายไม่มั่นคง ดำรงอยู่ไม่ได้ด้วยตนเอง เนื่องจากโดน Supply-chain ตรงกลาง ก่อนถึงผู้บริโภค หักส่วนแบ่งไปจนหมด
ในทางปฏิบัติ เกษตรกรจึงควรรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ หรือกลุ่มธุรกิจ ที่มีหน้าร้านและการจัดการขายของตนเอง เพื่อแข่งกับ Modern Trade ในระบบตลาดปัจจุบัน เพื่อสร้างความยั่งยืน สืบไป (ตัวอย่าง งานวิจัยวารสารเกษตรพระจอมเกล้า)
วิถีการเกษตรแบบโบราณ
การเกษตรถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ในอดีต ชุมชนลุ่มแม่นำ้เจ้าพระยาในยุคสมัยต่าง ๆ ล้วนเป็นชุมชนกสิกรรม จักสาน มีเพียงส่วนน้อย ที่เป็นพ่อค้า ช่างตีเหล็ก ลฯล นอกจากนี้ การขาดการสะสมองค์ความรู้ทางชีวเคมีที่เพียงพอ ทำให้งานเกษตรกรรมในอดีตจึงล้วนแล้วแต่เป็นการเกษตรสมุนไพร อิงกับลมฟ้าอากาศ และธรรมชาติที่เหมาะสม หรือที่คนในยุคสมัยใหม่นี้ เรียกว่า การเกษตรอินทรีย์ นี้เอง
ลักษณะเด่นของการเกษตรอินทรีย์ คือการใช้สารชีวเคมี ที่พบได้ในธรรมชาติ 100% หรือที่ธรรมชาติสามารถจัดการย่อยสลาย แปรรูปได้ในเวลาอันสั้น เช่น ปุ๋ยยูเรีย แทนที่จะใส่สูตร 46-0-0 ก็ใช้การฉี่รด และแทนที่จะใส่ปุ๋ย N P K ให้ครบตามสูตรร้านเคมีภัณฑ์การเกษตร ก็หันไปใช้ปุ๋ยหมักจากมูลวัว มูลไก่ ผสมเขัา้กับสูตรลับตามวิถีใครวิถีมัน เท่านี้ ก็จะได้ผลลัพธ์ในแบบฉบับเดียวกัน ต่างกันเพียงที่มา
อย่างไรก็ดี การเกษตรแบบโบราณ ก็ไม่อาจตอบโจทย์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากวิถีชีวิตดั้งเดิม ที่ชาวบ้านเพาะปลูกพืช และนำไปแลกเปลี่ยนกัน ทั้งในหมู่บ้าน และในตลาด สูญสิ้นไปแล้ว แทนที่ด้วยกสิกรรมในระบบตลาดที่ใช้เงินตราเป็นสื่อกลาง ภาพความทรงจำเดิม ๆ จึงไม่อาจหวนคืนมา
นอกจากนี้ ภูมิปัญญาการเกษตรในยุคอดีต ก็เจือจางไป แทนที่ด้วยนวัตกรรมการเกษตร จากต่างประเทศ ที่เน้นการเกษตรอุตสาหกรรม ทั้งผืนดิน ผืนนำ้ ก็เสื่อมโทรมลงมาก จากปัจจัยทางอุตสาหกรรมต่าง ๆ ราคาผลผลิต ก็อยู่นอกเหนือการควบคุม ทำให้อาชีพเกษตรกรไม่ใช่อาชีพหลัก ของคนท้องถิ่นอีกต่อไป หากภาครัฐต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ก็จำเป็นต้องส่งเสริมให้ชาวบ้านท้องถิ่น ให้มีอาชีพการเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อสร้างเอกลักษณ์ และดึงคนกลับชนบท
……..ไม่มีใครไม่คิดถึงบ้าน……..
เรื่องเล่าจากแปลงผัก
จะมีคำกล่าวติดปาก ที่บอกเล่าเรื่องราวพิลึกพิลั่น เกี่ยวกับการเกษตรติดปากคนเมืองใหญ่อยู่เสมอ เช่น เพราะงูเลื้อยผ่าน ผักชุดนี้จึงขม หรือ เพราะผลไม้ลูกนั้นห้อยอยู่ตํ่า จึงโดนสุนัขฉี่รด ท่านทราบหรือไม่ว่า อาการขมของผักผลไม้นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่มีการฉี่รดพืชผลแต่อย่างใด แต่เกิดจากปฏิกริยาทางเคมี ระหว่างการเจริญเติบโตของผืชผลนั้น ๆ เช่น แตงกวา จะมีสาร cucurbitacin ซึ่งสร้างรสขมขึ้นมา และเป็นสารที่เป็นผลของกระบวนการทางเคมีภายในต้นแตงกวา สารตัวนี้เกิดจากภาวะการขาดนํ้า ไม่ได้รับแสงเพียงพอ หรือโรคแมลงเจาะทำลาย และท้ายที่สุด เกิดได้จากการเก็บเกี่ยวหลังเวลาเก็บเกี่ยว จึงทำให้แตงกวาผลนั้นแก่เกินไป